สร้างความหวังหลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านการลงทุนด้านน้ำและสุขาภิบาล

 

Mr. Gilbert F. Houngbo ประธานองค์กรน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN-Water) และประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้วิถีของโลกหยุดชะงักลง การระบาดได้คุกคามทั้งคนมั่งมีและคนยากจนเหมือนๆ กัน แต่ความสามารถในการป้องกันตนเองไม่เท่ากัน ขณะที่ยังรอการพัฒนาวัคซีนหรือยาที่มีประสิทธิภาพอยู่นั้น สุขอนามัยที่ดีก็เป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องตนเองที่ดีที่สุด แต่เราจะล้างมือและรักษาความปลอดภัยให้ครอบครัวได้อย่างไร หากไม่มีแหล่งน้ำที่เชื่อถือได้และห้องสุขาที่เหมาะสม ซึ่งยังไม่ต้องกล่าวถึงสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ (ที่หาได้ยากยิ่งกว่า)

 

การระบาดไปทั่วโลกของโควิด-19 ทำให้สามารถเห็นผลลัพธ์ที่ตามมาของการลงทุนด้านน้ำและสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอสำหรับประชากรโลกหลายหมื่นล้านคนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะนี้โลกกำลังมุ่งช่วยเหลือครัวเรือนให้รอดพ้นจากการระบาดของโควิด-19 ถึงแม้จะเอาชนะการระบาดและปกป้องชีวิตให้มีความปลอดภัยได้มากที่สุด แต่เราก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เราจะยังต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน

  • ความต้องการน้ำของโลกกำลังพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่น้ำแหล่งต่างๆ เกิดภาวะมลพิษมากขึ้น
  • ภาคการเกษตรต้องการใช้น้ำมากขึ้น เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมและการผลิตพลังงาน
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ สถานการณ์ที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้มีมากขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายและการพลัดถิ่นของประชาชนหลายล้านคน

ทั้งนี้ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการตอบโต้แบบพหุภาคีอย่างรอบด้าน โดยคิดเป็นตัวเลขร้อยละสองหลักของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลก เพื่อรับมือกับภาวะถดถอยทางการเงินอย่างฉับพลัน แต่เราจะใช้การลงทุนดังกล่าวสร้างอนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืนอย่างที่เราต้องการและจำเป็นต้องมีได้อย่างไร

ในแง่ของเศรษฐกิจ การลงทุนการบริการจัดหาน้ำดื่ม สุขาภิบาล และสุขอนามัยนั้นได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน สำหรับเมือง ทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ในการลงทุนด้านสุขาภิบาลพื้นฐานสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 2.5 ดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยการลงทุนด้านน้ำดื่มได้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 3 ดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าวต้องได้อะไรที่มากกว่าการเข้าถึงน้ำดื่ม สุขาภิบาล และสุขอนามัย โดยจะเกิดประโยชน์สูงสุดหากการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จากการคำนวณขององค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (OECD) จำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 6.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำทั่วโลก

หากปราศจากระบบน้ำและสุขาภิบาลที่แข็งแกร่ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการก็ไม่สามารถทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านสุขภาพ การศึกษา อาหาร พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสันติภาพได้

โควิด-19 ทำให้เราตระหนักอย่างยิ่งยวดถึงการเผชิญความเปราะบางและโชคชะตาร่วมกัน การหยุดชะงักไปทั่วโลกแบบไม่ธรรมดานี้ได้ส่งผลให้เกิดโอกาสและความหวังใหม่ในการสร้างสิ่งที่ดีกว่า ด้วยการเปลี่ยนลำดับความสำคัญ เราสามารถทำให้โลกก้าวไปข้างน้ำอย่างที่ควรจะเป็นเพื่อส่งมอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงเป้าหมายที่ 6 น้ำและสุขาภิบาลสำหรับทุกคนด้วย

นี่คือเหตุผลที่ระบบขององค์การสหประชาชาติกำลังจัดตั้งกรอบการดำเนินงานระดับโลกเพื่อเร่งความคืบหน้าของ SDG เป้าหมายที่ 6 ซึ่งการริเริ่มดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานระหว่างรัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และระบบขององค์การสหประชาชาติ การทำงานร่วมกันจะช่วยให้มีการจัดวางการดำเนินงานที่ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพทางการเงิน และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านศักยภาพและการกำกับดูแล

ด้วยตัวเร่งความก้าวหน้า (Accelerator) ทั้ง 5 ได้แก่ การเงิน ข้อมูลและสารสนเทศ การพัฒนาศักยภาพ นวัตกรรม และการกำกับดูแล กรอบการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างรวดเร็วซึ่งจะช่วยสนับสนุนความก้าวหน้าระหว่างสาขาของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งรวมถึงเป้าหมายเพื่อลดความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ สันติภาพ ความยั่งยืนและการปรับตัวของชุมชนต่อสภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศและระบบการผลิต

การตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินของโควิด-19 เป็นการใช้ความมุ่งมั่นและทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยชีวิตคนทั่วโลก แต่ก็จำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการบรรลุถึงวาระ ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย การเร่งรัดความก้าวหน้าเป้าหมายที่ 6 จะช่วยให้เรามีแนวทางในการจัดการกับปัญหาเรื่องน้ำในปัจจุบันและป้องกันการทำลายล้างชีวิตมนุษย์จากการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

แปลโดย

ส่วนวิเทศสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ

สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ

กรมทรัพยากรน้ำ


ท่านสามารถดาวโหลดบทความได้ตามลิงค์ด้านล่าง