สถานะพื้นที่ชุ่มน้ำโลกและการให้บริการประชาชน (State of the world’s wetlands and their services to people)
การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การบริการจากระบบนิเวศที่หลากหลายของพื้นที่ชุ่มน้ำบ่งบอกถึงการเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันผู้จัดทำนโยบายและมีอำนาจในการตัดสินใจยังมีการประเมินคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำต่อธรรมชาติและมนุษยชาติต่ำกว่าความเป็นจริง
ความเข้าใจคุณค่าและสถานการณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด โดย Global Wetland Outlook ได้สรุปขอบเขตของพื้นที่ชุ่มน้ำในปัจจุบัน แนวโน้ม และตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนขั้นตอนที่จำเป็นต่อการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูคุณลักษณะทางนิเวศวิทยาของพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนี้
สถานภาพและแนวโน้ม (Status and Trends)
ขอบเขต (Extent)
ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตหรือขนาดของพื้นที่ชุ่มน้ำโลกมีความถูกต้องมากขึ้น โดยพื้นที่ชุ่มน้ำโลกทั้งบนบกและชายฝั่งทะเลครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 12 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศแคนาดา โดยร้อยละ 54 เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี และร้อยละ 46 เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติทั่วโลกมีขนาดลดลงไปเรื่อยๆ ระหว่างปี 2513 ถึง 2558 พื้นที่ชุ่มน้ำบนบกและทางทะเลและชายฝั่งมีเนื้อที่ลดลงไปประมาณร้อยละ 35 คิดเป็น 3 เท่าของอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าวและอ่างเก็บน้ำ มีขนาดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 12 ของพื้นที่ชุ่มน้ำของโลก ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่สามารถทดแทนการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติได้
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าสายพันธุ์ที่ต้องพึ่งพาพื้นที่ชุ่มน้ำ อาทิ ปลา นกน้ำ และเต่า กำลังลดจำนวนลงอย่างมาก โดย 1 ใน 4 ถูกคุกคามจากการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อน นับตั้งแต่ปี 1970 ร้อยละ 81 ของประชากรสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำบนบก และร้อยละ 36 ของประชากรสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำทางทะเลและชายฝั่งทะเลได้ลดจำนวนลง
ภัยคุกคามระดับโลกที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตลำดับขั้นสูง (Taxa) ที่พึ่งพาพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งบนบกและชายฝั่งทะเลเกือบทั้งหมดเผชิญภัยคุกคามในระดับสูง (กว่าร้อยละ 10 ของสายพันธุ์ทั่วโลก) ส่วนภัยคุกคามระดับสูงสุด (กว่าร้อยละ 30 ของสายพันธุ์ทั่วโลก) เกิดขึ้นกับเต่าทะเล สัตว์ขนาดใหญ่ที่พึ่งพาพื้นที่ชุ่มน้ำ สัตว์เลื้อยคลานน้ำจืด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หอยน้ำจืด ปะการัง ปู และกั้ง ซึ่งความเสี่ยงในการสูญพันธุ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าสายพันธุ์นกน้ำจะมีภัยคุกคามในระดับค่อนข้างต่ำ แต่ประชากรเกือบทั้งหมดก็อยู่ในภาวะลดจำนวนลงในระยะยาว มีเพียงปลานกแก้วและปลาหมอที่พึ่งพาแนวปะการังและแมลงปอเท่านั้นที่มีภัยคุกคามในระดับต่ำ
คุณภาพน้ำ (Water Quality)
แนวโน้มคุณภาพน้ำเกือบจะเป็นลบ นับตั้งแต่ปี 2533 สถานการณ์มลพิษทางน้ำได้เลวร้ายลงในแม่น้ำเกือบทุกสายของลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งคาดว่าความเสื่อมโทรมจะเพิ่มมากขึ้น
ภัยคุกคามหลัก ได้แก่ น้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด ของเสียอุตสาหกรรม น้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่การเกษตร การกัดเซาะผิวดิน และการเปลี่ยนแปลงของตะกอนดิน ภายในปี 2593 หนึ่งในสามของประชากรโลกจะต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำที่มีค่าไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเกินค่ามาตรฐาน นำไปสู่การเจริญเติบโตและการเน่าเปื่อยของพืชน้ำจำพวกสาหร่ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถทำลายชีวิตปลาและสายพันธุ์อื่นๆ มลภาวะทางเชื้อโรคที่รุนแรงส่งผลต่อหนึ่งในสามของแม่น้ำในลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของโคลิฟอร์มแบคทีเรียที่มากับอุจจาระในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ความเค็มได้รุกเข้าพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่ง รวมถึงน้ำใต้ดิน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ไนโตรเจนออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลและแอมโมเนียจากการเกษตรทำให้เกิดการสะสมของกรด โดยการระบายน้ำจากเหมืองกรดเป็นแหล่งมลพิษหลัก มลภาวะความร้อนจากโรงผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมทำให้ออกซิเจนลดต่ำลง เปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อาหาร และลดความหลากหลายทางชีวภาพ พลาสติกที่ไม่ย่อยสลายอย่างน้อย 5.25 ล้านล้านอนุภาคลอยอยู่ในมหาสมุทรของโลกและส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำชายฝั่งทะเล ในประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เกือบครึ่งหนึ่ง น้ำในพื้นที่การเกษตรมีสารกำจัดศัตรูพืชเกินกว่าค่ากำหนดระดับประเทศ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ บั่นทอนการบริการจากระบบนิเวศ และสร้างความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
กระบวนการของระบบนิเวศ (Ecosystem processes)
พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีประสิทธิผลทางชีวภาพมากที่สุด ซึ่งมีบทบาทในวัฏจักรน้ำโดยการรองรับ กักเก็บ และปลดปล่อยน้ำ ควบคุมการไหลของน้ำ และค้ำจุนสิ่งมีชีวิต แม่น้ำ ที่ราบน้ำท่วมถึง และพื้นที่ชุ่มน้ำที่ทีช่องทางเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำมีบทบาทสำคัญด้านอุทกวิทยา แต่พื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งที่ไม่ได้เชื่อมต่อทางกายภาพก็มีความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่ควบคุมการไหลของน้ำ ก็ลดการเชื่อมต่อของระบบแม่น้ำหลายสายกับพื้นที่ชุ่มน้ำในที่ราบน้ำท่วมถึง พื้นที่ชุ่มน้ำควบคุมสารอาหารและติดตามวงจรของโลหะ รวมถึงสามารถกรองสารเหล่านี้และมลพิษอื่นๆ นอกจากนี้ ยังกักเก็บปริมาณส่วนใหญ่ของคาร์บอนในดิน แต่ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำกลายเป็นแหล่งสะสมคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่ผิวดินถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง