ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำต่อการจัดหาน้ำจืดโลก

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวันที่มีการลงนามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 โลกกำลังประสบกับภาวะวิกฤติด้านน้ำจืด ซึ่งคุกคามคุณภาพชีวิตของประชากรโลก เนื่องจากน้ำจืดถูกนำมาใช้เกินกว่าที่ธรรมชาติจะผลิตได้ทัน และพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศน้ำจืดและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องพึ่งพิงกำลังถูกทำลายลง การรณรงค์ในปี 2564 จึงมุ้งเน้นความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำต่อคุณภาพและปริมาณของน้ำจืดของโลก เนื่องจากน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ และสุขอนามัยของโลกและประชากร

บทบาทของพื้นที่ชุ่มน้ำ

พื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม ช่วยค้ำจุนธรรมชาติและมนุษยชาติ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้บริการที่หลากหลาย ประกอบด้วย

1. เป็นแหล่งเก็บกักและผลิตน้ำสะอาด

2. เป็นแหล่งผลิตอาหาร

  • เกษตรกรรมเป็นภาคการผลิตอาหารที่กำลังเติบโตสูงสุด รวมถึงประมงน้ำจืดซึ่งสามารถผลิตปลาได้ถึง 12 ล้านตัน ในปี 2561
  • ในแต่ละปี นาข้าวสามารถเลี้ยงประชากรโลกได้ถึง 3,500 ล้านคน

3. หนุนเศรษฐกิจโลก

  • พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีมูลค่ามากที่สุด ให้การบริการเป็นมูลค่าถึง 1,400 ล้านล้านบาทต่อปี
  • ประชากรกว่า 1,000 ล้านคนพึ่งพิงพื้นที่ชุ่มน้ำในการหารายได้
  • พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งผลิตน้ำจืดส่วนใหญ่ของโลก
  • พื้นที่ชุ่มน้ำช่วยกรองมลพิษตามธรรมชาติ และให้น้ำสะอาดที่ดื่มได้อย่างปลอดภัย

4. เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย

  • ร้อยละ 40 ของสายพันธุ์ของโลกอาศัยอยู่และขยายพันธุ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำในแต่ละปี ปลาสายพันธุ์ใหม่ราว 200 ชนิด ถูกค้นพบในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นน้ำจืด
  • แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์ต่างๆ ถึงร้อยละ 25

5. ให้ความปลอดภัย

  • พื้นที่ชุ่มน้ำทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมและพายุฝน ซึ่งพื้นที่แต่ละไร่สามารถดูดซับน้ำท่วมได้ถึง 2.5 ล้านลิตร
  • พื้นที่ชุ่มน้ำช่วยควบคุมสภาพภูมิอากาศ โดยป่าพรุสามารถเก็บกักคาร์บอนได้เป็นสองเท่าของป่าไม้โลก หนองน้ำเค็ม ป่าโกงกาง และแหล่งหญ้าทะเลก็ช่วยยึดเกาะคาร์บอนได้ปริมาณมหาศาล

แนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับมนุษย์และธรรมชาติ ได้แก่

  • หยุดทำลายและเริ่มฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • ไม่สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำหรือสูบน้ำใต้ดินมากเกินขอบเขต
  • จัดการกับมลภาวะและทำความสะอาดแหล่งน้ำจืด
  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด
  • บูรณาการน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ในแผนพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ