เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและการตั้งค่าคุกกี้ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้

คำถามที่พบบ่อย
คำถามที่พบบ่อย

โครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong – EbA South: Enhancing Climate Resilience in the Greater Mekong Sub-region through Ecosystem-based Adaptation in the context of South-South Cooperation) Edit

คำถาม : โครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong – EbA South) มีความเป็นมาอย่างไร

คำตอบ :

  1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เห็นชอบข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการ “โครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง”
  2. อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อร่วมดำเนินการโครงการ (Project Cooperation Agreement: PCA) ระหว่างกรมทรัพยากรน้ำและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 โดยมี UNEP เป็นหน่วยงานกำกับ ดูแลการดำเนินการโครงการในภาพรวม (Implementing Entity) ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ

คำถาม : วัตถุประสงค์ของโครงการ คืออะไร

คำตอบ : วัตถุประสงค์หลักของโครงการ ประกอบด้วย

  1. การแทรกแซงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดำเนินการโดยชุมชนเปราะบางในประเทศไทย เพื่อจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะน้ำท่วมและภัยแล้ง
  2. เพิ่มพูนความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับมาตรการการปรับตัว รวมถึงการใช้ Ecosystem – based Adaptation (EbA) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบนิเวศต่าง ๆ และส่งเสริมความร่วมมือระดับชาติและระดับภูมิภาค การวางแผน และการดาเนินการด้านการปรับตัว ในภูมิภาคลุ่มนาโขง
  3. เสริมสร้างความร่วมมือระดับชาติและระดับภูมิภาคในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติจากอุทกภัยและภัยแล้งในภูมิภาคพื้นที่ลุ่มน้ำโขง Greater Mekong Sub – Region (GMS)

คำถาม : ประเทศไทยต้องดำเนินการอะไรบ้าง

คำตอบ : ประเทศไทย ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Fund) และได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง ให้การดำเนินการโครงการบรรลุเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด สำหรับการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว มีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ ประกอบด้วย

  1. พัฒนาแนวทางการดำเนินงานอย่างละเอียดสำหรับการส่งเสริมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง (Implementation protocol)
  2. ฝึกอบรมให้ความรู้ในการปฏิบัติใช้แผนการปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem – based Adaptation: Eba) กับชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำยัง
  3. ดำเนินการส่งเสริมทางการเกษตรที่ยืดหยุ่นต่อสภาวะอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง (ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ทนต่อสภาวะอากาศแปรปรวนและภัยพิบัติได้ดี)
  4. ดำเนินการส่งเสริมการใช้การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem – based Adaptation: Eba) เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ภายในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง
  5. ดำเนินการส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำและการจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้ง (สร้างฝายมีชีวิต ขยายลำน้ำ อนุรักษ์แหล่งน้ำ การใช้งาน green and grey infrastructure พัฒนาระบบ Water harvesting)
  6. สร้างทางเลือกในการดำรงชีวิตที่เพิ่มขึ้นและมีความยืดหยุ่นด้านสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง

คำถาม : คณะกรรมการกำกับโครงการฯ มีบทบาทและหน้าที่อย่างไร

คำตอบ : ภายใต้ข้อตกลงการดำเนินการโครงการดังกล่าว ได้กำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับโครงการฯ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง (Mekong EbA South: Enhancing Climate Resilience in the Greater Mekong Sub-region through Ecosystem based Adaptation in the Context of South-South Cooperation) โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพยากรน้ำในแผ่นดิน) เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลและให้ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง (Mekong EbA South) ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ 264/2566 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

  1. พิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการกำหนดแนวทางดำเนินโครงการและแผนปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์
  2. กำกับดูแลการบริหารจัดการโครงการและให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรค
  3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
  4. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์และเป้าหมายที่กำหนดไว้

คำถาม : หน่วยงาน/องค์กรหลักอื่นๆ ทีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการ มีหน่วยงาน/องค์กรใดบ้าง

คำตอบ : โครงการดังกล่าว ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Fund) โดยมีโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เป็นหน่วยงานกำกับ ดูแลการดำเนินการโครงการในภาพรวม (Implementing Entity) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เป็นหน่วยงานประสานงานและดำเนินการในระดับภูมิภาค ในส่วนการดำเนินการโครงการระดับประเทศ ประกอบด้วย 2 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ 2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกรมทรัพยากรน้ำ อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึงการดำเนินการภายในประเทศแล้ว ยังมีหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมดำเนินการ ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานโครงการฯ หรือคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ เช่น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และรวมถึงเครือข่ายและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งร่วมดำเนินการโครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง

คำถาม : ดำเนินการโครงการในพื้นที่ใด

คำตอบ : พื้นที่ดำเนินการในลุ่มน้ำยัง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (ประกอบด้วย ลุ่มน้ำหลัก 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ โขง ชี และมูล) โดยลุ่มน้ำยังเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ (พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด) มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,390 มม. และมีพื้นที่ระบายน้ำประมาณ 4,155 ตร.ม. โดยลุ่มน้ำยัง เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ตอนบนประสบกับความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และพื้นที่ตอนล่างมีปัญหาจากภัยน้ำท่วม ซึ่งจากภาวะดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งด้านน้ำอุปโภคบริโภค ผลผลิตด้านการเกษตร การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ รายได้ประชาชน รวมถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

คำถาม : ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ คืออะไร

คำตอบ : การดำเนินการโครงการดังกล่าว มีประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้

  1. มีแนวทาง องค์ความรู้ และรูปแบบมาตรการการปรับตัว Ecosystem – based Adaptation (EbA) ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ
  2. การริเริ่มประยุกต์ใช้มาตรการ Ecosystem – based Adaptation (EbA) ในประเทศไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
  3. ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับการเรียนรู้และมีความตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงรับทราบแนวทางและมาตราในการปรับตัวในพื้นที่
  4. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิด Ecosystem – based Adaptation (EbA) ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง และภูมิภาคอื่น
  5. การนำแนวคิด Ecosystem – based Adaptation (EbA) ปรับเข้าสู่การวางแผน และนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

คำถาม : หากไม่ดำเนินการโครงการ จะมีผลกระทบอย่างไร

คำตอบ :

  1. ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง ส่งผลต่อความเป็นอยู่ การใช้น้ำ รายได้ของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ รวมถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
  2. ไม่มีข้อมูล องค์ความรู้ แนวทางและมาตรการในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
  3. ขาดโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ
ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการริเริ่มการใช้แนวคิด Ecosystem – based Adaptation (EbA) มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  4. ขาดโอกาศในการรับประโยชน์จากการสนับสนุนของหน่วยงาน/องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งด้านงบประมาณ วิชาการ และบุคลากรในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

คำถาม : EbA คืออะไร

คำตอบ : การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA) เป็นหนึ่งในแนวทางของการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions: NbS) ซึ่งให้ความสำคัญกับ “การใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์ต่างๆ จากระบบนิเวศเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปรับตัว เพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ (CBD 2009 & 2010)” อ้างอิงจาก คูมือสำหรับการกำหนดและการนำเอามาตรการ การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศไปดำเนินการในลุ่มน้ำของประเทศไทย IUCN, 2565

คำถาม : สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้อย่างไร

คำตอบ : สามารถสอบถามได้ที่ กองอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ หมายเลขโทรศัพท์ 02-271-6000 ต่อ 6726 หรือที่ e-mail : pwrm.dwr@gmail.com