พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands For Thai) กรมทรัพยากรน้ำ
กรมทรัพยากรน้ำ
กิจกรรมเนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี)
โดยในปี พ.ศ. 2568 กำหนดภายใต้หัวข้อ (Theme)
“PROTECTING WETLANDS FOR OUR COMMON FUTURE – Value, Protect, Inspire”
หรือ “ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่ออนาคตของเรา – รู้คุณค่า ร่วมปกป้อง สร้างแรงขับเคลื่อน”
ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ชุดกิจกรรมการสื่อสาร สื่อสำหรับเผยพร่ประชาสัมพันธ์
(**สื่อประชาสัมพันธ์ฉบับภาษาไทย ประเภทอื่น ๆ จะมีการอัปโหลดเพิ่มเติมในภายหลัง)
ฉบับภาษาอังกฤษ ดาวน์โหลดได้ตามลิงก์ >>> ENG Materials <<<
ฉบับภาษาไทย ดาวน์โหลดได้ตามลิงก์ >>> THAI Materials <<<
FLYWAY YOUTH FORUM 2020 เป็นกิจกรรมออนไลน์และแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นสำหรับเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี เพื่อสำรวจการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกน้ำอพยพตามเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย โดยจะจัดกิจกรรมในระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2563 และระหว่างวันที่ 5-6 ธันวาคม 2563 รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.flywayyouth.com/
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่เครือข่ายนกอพยพภายใต้โครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย (Partnership for the Conservation of Migratory Waterbirds and the Sustainable Use of their Habitats in the East Asian – Australasian Flyway) หรือ The East Asian – Australasian Flyway Partnership (EAAFP) ภายใต้ชื่อ “พื้นที่เครือข่ายนกอพยพบุรีรัมย์” ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ซึ่งโครงการความร่วมมือดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่ต้องการอนุรักษ์นกอพยพตลอดจนถิ่นที่อยู่อาศัย และส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่อย่างชาญฉลาด เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้สามารถเอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และนกอพยพ หลังจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลาง EAAFP จะจัดส่งเอกสารไปยังสำนักเลขาธิการ EAAFP เพื่อตรวจสอบข้อมูลและพิจารณาประกาศเป็นพื้นที่เครือข่ายนกอพยพแห่งใหม่ต่อไป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เครือข่ายนกอพยพ จำนวน ๓ แห่ง คือ ปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ปากทะเล-แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี และโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร
ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ในลำดับที่ ๑๑๐ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ โดยการสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยประสานงานกลางระดับชาติของอนุสัญญาฯ ซึ่งปัจจุบันอนุสัญญาฯ ดังกล่าวมีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เข้าร่วมเป็นภาคีรวม ๑๗๑ ประเทศ ทั้งนี้ ข้อตกลงหลัก ๆ ของประเทศที่เข้าร่วมในภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ คือ ภาคีจะต้องคัดเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ เพื่อบรรจุในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ และส่งเสริมการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้ง ต้องกำหนดและวางแผนการดำเนินการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด และขอความร่วมมือให้ภาคีต่าง ๆ ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ
พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม มีระบบนิเวศที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ที่มีความหายาก ได้แก่ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ มีความสำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด เป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก พบความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย ๑๒๔ ชนิด พันธุ์พืช ๒๐๘ ชนิด รวมทั้ง มีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์แม่น้ำสงครามตอนล่างในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยได้ดำเนินงานโครงการด้านการอนุรักษ์แหล่งน้ำร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคาร HSBC ประเทศไทย
พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม ที่เสนอขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ มีขอบเขตเริ่มตั้งแต่ปากน้ำบ้านไชยบุรี ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน ไปจนถึงบ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม ความยาวทั้งสิ้น 92 กิโลเมตร โดยการกำหนดพื้นที่เสนอแรมซาร์ไซต์ ยึดหลักการสำคัญ คือ ครอบคลุมเฉพาะส่วนที่เป็นตัวแม่น้ำสงครามตอนล่าง และพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่ติดกับสองฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่ป่าสาธารณะ หรือป่าบุ่งป่าทามที่ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ และไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของราษฎร รวมทั้งพื้นที่การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พื้นที่สาธารณะตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) รวมพื้นที่ที่เสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ทั้งหมด 34,381 ไร่
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 และสำนักงานนโยบายฯ ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ว่าได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) อย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีผลวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง เป็นแรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2,420 ของโลก และเป็นลำดับที่ 15 ของประเทศไทย
การขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ เป็นการสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับชุมชนในท้องถิ่นและประเทศไทย ที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีความสำคัญ ได้รับการขึ้นทะเบียนบรรจุไว้ในทำเนียบพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศระดับโลก เปิดโอกาสให้มีการทำข้อตกลงในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ป้องกันความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากร นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการศึกษาคุณค่า ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้มีการจัดการดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีข้อห้ามในการใช้ประโยชน์พื้นที่ แต่ต้องคำนึงถึงหลักการสากล คือ การใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด เพื่อให้มีพื้นที่ชุ่มน้ำและทรัพยากรธรรมชาติใช้ประโยชน์ได้ตลอดไป การใช้ประโยชน์และการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่กำกับดูแลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน