ความริเริ่มภายใต้สัญญา
ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ ได้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมระดับภูมิภาคหลายๆ โครงการ โดยได้สร้างศูนย์แรมซาร์ระดับภูมิภาคขึ้นเพื่อเป็นศูนย์อบรมและสร้างศักยภาพให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายความร่วมมือแรมซาร์ระดับภูมิภาค
ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์แรมซาร์ระดับภูมิภาค 4 แห่งในทวีปแอฟริกา ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา และทวีปเอเชียและโอเชียเนีย โดยศูนย์แรมซาร์ทั้ง 4 แห่งจะส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคและการแลกเปลี่ยนความรู้ภายในภูมิภาคของตน รวมทั้งมีเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาค 15 เครือข่าย ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ชุมชน ท้องถิ่นและบริษัทเอกชน
สำหรับความร่วมมือระดับภูมิภาคในทวีปเอเชียที่มีการดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน มีจำนวน 5 โครงการ ดังนี้
ความร่วมมือพันธมิตรเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย

เส้นทางบินนกอพยพ (Flyway) เป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญที่แสดงความสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงได้เกิดความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย (Partnership for the Conversation of Migratory Waterbirds and the Sustainable Use of their Habitats in the East Asian- Australasian Flyway) เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 ในระหว่างการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 6 ณ เมืองบริสเบน เครือรัฐออสเตรเลีย เป็นการริเริ่ม
ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลออสเตรเลีย และรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับองค์การพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติซึ่งในระยะแรกดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการอนุรักษ์นกอพยพในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (Asia -Pacific Migratory Waterbirds Conservation Committee :MWCC) โดยกำหนดให้มีรูปแบบการประสานงานในรูปแบบคณะกรรมการและมีผู้แทน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ ผู้แทนรัฐบาล (ประเทศออสเตรเลียญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา), ผู้แทนสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ, ผู้แทนอนุสัญญาว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่มีการอพยพ, ผู้แทนองค์กรที่สนับสนุนงบประมาณ คณะทำงานทางวิชาการ กลุ่มนกเป็ด กลุ่มนกกะเรียน กลุ่มนกชายเลน และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ Bird Life International World Wildlife Fund for Nature และ Wetland International ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานตามกลยุทธ์ จัดทำและเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานแก่คณะทำงานวิชาการของชนิดพันธุ์ทั้งสามกลุ่ม ติดตามตรวจสอบและสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างการริเริ่มในการอนุรักษ์นกอพยพและชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
ประเทศไทยได้รับเชิญจากประธานคณะกรรมการฯ ให้เข้าร่วมเป็นกรรมการของคณะกรรมการอนุรักษ์นกอพยพฯ (MWCC) ในปี พ.ศ. 2544
ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ นครโจฮันเนสเบิร์กสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลออสเตรเลีย และรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมกับองค์การพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ ได้นำเสนอโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศสำหรับนกอพยพในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก –ออสเตรเลีย โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ การอนุรักษ์นกอพยพและแหล่งที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโดยการสร้างความรู้ ความตระหนักในคุณค่า และความสำคัญของนกอพยพ ซึ่งแบ่งเป็นสามประเภท คือ เครือข่ายนกกระเรียน เครือข่ายนกเป็ด และเครือข่ายนกชายเลน และได้ยกร่างข้อตกลงโครงการความร่วมมือพันธมิตรการอนุรักษ์นกอพยพฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2547 – 2548 โดยได้ลงนามรับรองครั้งแรก ณ เมืองโบกอร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซียในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549
สำหรับประเทศไทย ได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ลำดับที่ 1100 เป็นเครือข่ายนกชายเลน (Shorebird network) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งเป็นเครือข่ายนกอพยพแห่งแรกของประเทศไทย
ต่อมามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สผ. เป็นหน่วยประสานงานกลางโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพ และการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน ในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย และเห็นชอบในการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของประเทศไทย เป็นพื้นที่เครือข่ายอนุรักษ์นกอพยพตามโครงการความร่วมมือสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพฯ ประกอบด้วย พื้นที่ชุ่มน้ำหลัก 9 แห่ง ได้แก่ แอ่งเชียงแสน และเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง – ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำ ห้วยตลาด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กุดทิง และบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ และพื้นที่ชุ่มน้ำย่อยในอ่าวไทยตอนใน 6 แห่ง ได้แก่ บ้านปากทะเล และแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม หาดเลนบ้านคลองโคน และนาเกลือบ้านโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร
ต่อมาได้เสนอพื้นที่บ้านปากทะเล และแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี และนาเกลือบ้านโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเครือข่ายนกชายเลนอีกสองแห่ง
อ้างอิง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันตก

ศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันตก (RRC-CWA) ได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งครั้งแรกตามมติการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ครั้งที่ 8 (Ramsar COP 8, Resolution VIII.41) ที่ประเทศสเปน โดยศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันตก ตั้งอยู่ที่เมืองแรมซาร์ซิตี้ ประเทศอิหร่าน โดยเป้าหมายของศูนย์แรมซาร์ คือการส่งเสริมการปฏิบัติตามอนุสัญญาแรมซาร์ภายในภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันตกผ่านการฝึกอบรม การวิจัย การสนับสนุน และการสร้างความตระหนักในเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ และสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานของภาคีสัญญาสำหรับการจัดการและการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีประสิทธิภาพ
ศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (RRC-EA) ได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งครั้งแรกตามมติการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ครั้งที่ 10 (Ramsar COP10, Resolution X.32) ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตั้งอยู่ที่เมืองช็อลลาใต้ ประเทศเกาหลีใต้ โดยเป้าหมายของศูนย์แรมซาร์ คือการส่งเสริมการปฏิบัติตามอนุสัญญาแรมซาร์ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และตะวันออกฉียงใต้ ผ่านการฝึกอบรม การวิจัย การสนับสนุน และการสร้างความตระหนักในเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ และสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานของภาคีสัญญาสำหรับการจัดการและการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีประสิทธิภาพ
ศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียกลาง

ศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียกลาง (RRI-CA) เป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกหลัก 3 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และเติร์กมินสถาน และผู้แทนลำดับรองจากประเทศภาคี (Alternative members) 6 ประเทศจากประเทศสมาชิกพันธะสัญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสมาชิก เพื่อให้สนับสนุนการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ และ แผนยุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2559-2567 ให้มีประสิทธิภาพในระดับชาติและระดับภูมิภาค
ความริเริ่มระดับภูมิภาคอินโดจีนภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์

ความริเริ่มระดับภูมิภาคอินโดจีน-พม่า ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (IBRRI) เป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก IUCN พร้อมกับทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของคณะทำงานผ่านสำนักงานภูมิภาคเอเชีย ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย และสำนักงานภายในประเทศลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์และแผนยุทธศาสตร์ของประเทศภาคีทั้ง 5 ประเทศ รวมทั้งสนับสนุนโครงสร้างและการดำเนินงานที่ยั่งยืนเพื่อให้การประสานงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการริเริ่มแรมซาร์ในภูมิภาคอินโดจีน-พม่า มีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ได้แก่
- 1) ด้านวิทยาศาสตร์และความรู้ : เป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคโดยการสนับสนุนการวิจัยร่วมกันในการจัดการและการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดในพื้นที่ชุ่มน้ำ
- 2) ด้านการกำหนดและการจัดการพื้นที่ : เป็นการพัฒนาหรือสนับสนุนการพัฒนาแผนการจัดการและ กฎระเบียบ/เครื่องมือการจัดการ สำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำ
- 3) ด้านนโยบายและการสนับสนุน : เป็นการส่งเสริมการเจรจาระดับภูมิภาคในการพัฒนานโยบายการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ โดยการแลกเปลี่ยนนโยบายที่มีอยู่และการทำงานร่วมกันเพื่อการปรับปรุง
- 4) ด้านการเสริมสร้างศักยภาพและการรับรู้ : เป็นการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถโดยการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและโครงการและหลักสูตรการศึกษา