รองนายกประวิตร เปิดโครงการระบบเครือข่ายน้ำหนองหวาย จ. สกลนคร  

ทส. เพิ่มน้ำต้นทุน พร้อมระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ลดรายจ่าย เสริมรายได้ชุมชน

----------------------------

จากนโยบายการบริหารจัดการน้ำโดยการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำของภาครัฐภายใต้การกำกับของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายภารกิจให้หน่วยงานภายใต้กำกับเร่งดำเนินการกระจายน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และเสริมรายได้ให้เกษตรกร ในช่วงสถานการณ์โควิด กรมทรัพยากรน้ำ โดยนายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีฯ ได้นำนโยบายดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติ โดยวางแผนและกำหนดโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำ พร้อมเสริมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่นอกเขตชลประทานทั่วประเทศดั่งเช่นระบบส่งน้ำเครือข่ายน้ำหนองหวาย จังหวัดสกลนคร

 

เมื่อ วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการ และติดตามความก้าวหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดโครงการระบบเครือข่ายน้ำหนองหวาย ต.หนองลาด อ.เมือง จ.สกลนคร

รองนายกฯ ประวิตร เปิดเผยว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่รัฐบาลได้จัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ และได้มีโอกาสพบปะกับพี่น้องประชาชนชาวสกลนคร ระบบเครือข่ายน้ำหนองหวายนี้ประสบความสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นับได้ว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำ เพิ่มน้ำต้นทุนให้มีมากขึ้น เมื่อมีน้ำเพียงพอก็สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำของภาคครัวเรือน และช่วยเสริมภาคการเกษตรได้หลายพันไร่ สามารถต่อยอดอาชีพอื่นๆ ในพื้นที่ได้ ที่สำคัญเมื่อรัฐบาลลงทุนสร้างให้แล้ว ก็ขอให้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาดูแลรักษาให้สามารถใช้ประโยชน์ให้ได้ยาวนานด้วย รัฐบาลมีความห่วงใยและมุ่งหวังให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงการ พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ที่จำเป็นให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำ ต้องแก้ไขให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ให้เกิดความมั่นคง ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของพวกเราทุกคน จะนำมาซึ่งความสำเร็จตามที่รัฐบาลมุ่งหวัง

 

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า แหล่งน้ำหนองหวาย ต.หนองลาด อ.เมือง    จ.สกลนคร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติมีขนาดพื้นที่กว่า 1,400 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมลำน้ำอูน เป็นแหล่งรองรับน้ำฝนในพื้นที่บริเวณโดยรอบก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำอูน โดยหนองหวายจะทำหน้าที่เป็นแก้มลิงรองรับน้ำและช่วยบรรเทาไม่ให้น้ำในลำน้ำอูนล้นตลิ่งและสร้างความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ในช่วงหลายปีมานี้แหล่งน้ำหนองหวายมีสภาพตื้นเขินและไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพ ประกอบกับลำน้ำอูนมีปริมาณน้ำหลากบ่อยครั้ง ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบหนองหวายประสบปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝนและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการ พัฒนา ปรับปรุง ฟื้นฟู อ่างเก็บน้ำหนองหวาย พร้อมเสริมระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถแก้ไขภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรจำนวนกว่า 1,150 ไร่ และสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค จำนวน 600 ครัวเรือน ประชากรกว่า 2,200 คน เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ สำหรับการพัฒนาหนองหวายในระยะที่ ๒  เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำ และการเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กรมทรัพยากรน้ำได้กำหนดแนวทางการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำในพื้นที่โดยการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ปริมาณรวม 20.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขยายพื้นที่รับผลประโยชน์ด้วยระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์อีกประมาณ 2,867 ไร่ รวมทั้งสิ้น 4,017 ไร่ ซี่งจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 900 ครัวเรือน ระบบนิเวศมีการฟื้นตัว มีน้ำหมุนเวียนใช้ได้ตลอดทั้งปี โดยกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการประมาณ 1,664.30 ล้านบาท และได้วางแผนขอสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นงบผูกพันระหว่างปี พ.ศ 2566 - 2568  ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำได้พัฒนาระบบตรวจสอบและติดตามการใช้น้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำแบบเรียลไทม์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยระบบฐานข้อมูลการใช้น้ำจะถูกใช้เพื่อการบริหารจัดการในเชิงยุทธศาสตร์ระดับประเทศต่อไป

 

ดร.ประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำเสริมว่า เป้าหมายการพัฒนาแหล่งน้ำหนองหวาย เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิต ครอบคลุมมิติด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ด้วยการนำหลักคิด บันได 3 ขั้น คือ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ก้าวสู่ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน มาปรับใช้ ในด้านสังคมเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ประชาชน ได้ตระหนักรู้ หวงแหนทรัพยากรและใช้อย่างชาญฉลาด ด้านสิ่งแวดล้อมมีการปรับพื้นที่ตื้นลึกเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของกระแสน้ำให้สัตว์น้อยใหญ่ได้มีที่อยู่อาศัย วางไข่และทำให้ระบบนิเวศฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงเชื่อมกับลำน้ำอูนช่วยให้สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ด้านเศรษฐกิจ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยนำน้ำที่กักเก็บไว้มาใช้ในฤดูแล้ง สำหรับการเพาะปลูกพืชผักเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องชื้อกิน เหลือแบ่งขาย ก้าวสู่ความมั่งคั่ง ส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มผู้ใช้น้ำรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกัน แปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของชุมชน ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อเป็น Landmarks ของ จ.สกลนคร ที่สำคัญจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ด้านน้ำของจังหวัด นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ การต่อยอดและสืบต่อไว้เป็นมรดกของคนรุ่นหลัง รวมทั้งการพัฒนาถนนโดยรอบอ่างให้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน กรมทรัพยากรน้ำได้นำหลักการพัฒนาแหล่งน้ำข้างต้นไปขยายผลในโครงการฯ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับในพื้นที่ภาคอีสานได้ดำเนินการแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างดำเนินการอีกจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำกุดนาแซง ต.บ้านโคก อ.โคกโพธิ์ชัย จ.ขอนแก่น (2) โครงการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำห้วยหนองหาร ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม (3) โครงการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว ต.บ้านหินโงม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี (4) โครงการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำบึงพฤาชัย ต.หมูม่น  อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ และ (5) โครงการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำกุดเรือคำ ต.ท่าบ่อ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

ในการนี้รองนายกฯ ประวิตร และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการประตูระบายน้ำธรนิศนฤมิต ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม และโครงการน้ำบาดาลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ต.ท่าไคร้ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมทั้งมอบนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืน