ทส. เผยไทยค้นพบฟอสซิล “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก พร้อมบูรณาการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

ทส. เผยไทยค้นพบฟอสซิล “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก พร้อมบูรณาการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน


          วันนี้ (18 ตุลาคม 2566) เวลา 11.00 น. นายนพดล พลเสน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายเถลิงศักดิ์  เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงฯ ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี โฆษกกรมทรัพยากรธรณี นายปรีชา สายทอง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมให้การแถลงข่าวเรื่อง การค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส” (Alligator munensis) หรือ “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” และเรื่องผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องแถลงข่าว 101 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          การค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส” (Alligator munensis) หรือ “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” เกิดจากการที่กรมทรัพยากรธรณี ได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 เมษายน  2548 และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี นำโดย Dr.GustavoDarlimร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ที่เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอโนนสูง พบว่า เป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น  นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่บ้านเจ้าของที่ดินใน บ้านสี่เหลี่ยม ต.ใหม่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ซึ่งได้ขุดบ่อเลี้ยงปลา โดยมากเป็นเศษกระดูกแตกหักจนไม่สามารถศึกษาได้  อีกทั้งได้ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์กะโหลกสภาพเกือบสมบูรณ์ของอัลลิเกเตอร์ และพบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก คาดว่า มีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุน้อยกว่านั้น การค้นพบดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส” (Alligator munensis) หรือ “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” โดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล  

          อัลลิเกเตอร์ มีลักษณะคล้ายกับจระเข้ แต่แตกต่างกันตรงที่อัลลิเกเตอร์มีจะงอยปากเป็นรูปตัวยู ในขณะที่จระเข้มีจะงอยปากเรียวแหลมเป็นรูปตัววี ลักษณะเด่นเมื่อเทียบกับอัลลิเกเตอร์ชนิดอื่น คือ มีจะงอยปากกว้างและสั้นกว่า มีกะโหลกสูงกว่า มีตำแหน่งรูจมูกอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก มีการลดจำนวนเบ้าฟันลงและมีเบ้าฟันขนาดใหญ่ขึ้นบ่งบอกว่ามีฟันขนาดใหญ่ใช้สำหรับกินอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยน้ำจืดชนิดต่าง ๆ จากขนาดกะโหลกคาดว่ามีขนาดทั้งตัวยาวประมาณ 1 - 2 เมตร นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะกะโหลกใกล้เคียงกับอัลลิเกเตอร์จีนในปัจจุบัน (Alligator sinensis) แสดงให้เห็นว่าอัลลิเกเตอร์ทั้งสองชนิดอาจมีบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างลุ่มน้ำแยงซีและลุ่มน้ำแม่โขง-เจ้าพระยา แต่การเกิดธรณีแปรสัณฐานทำให้เกิดการยกตัวของที่ราบสูงธิเบต ส่งผลให้เกิดการแยกประชากรทั้งสองชนิดออกจากกัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูลเกิดการสูญพันธุ์ไปก่อน

          ด้าน การดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการ
สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตยสุจริต เน้นความมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ สำหรับงานที่ต้องเร่งรัดแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ได้สั่งการให้หน่วยงานดำเนินการอย่างทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือน้ำท่วม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ PM2.5 ที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในพื้นที่ภาคเหนือ โดยอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการรับมือแล้ว  ส่วนเรื่องการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศ ในช่วงปลายปีจะเป็นฤดูกาล “การท่องเที่ยว”ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในความรับผิดชอบให้มีการเตรียมความพร้อมของสถานที่ การดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ด้านเรื่องการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ Expo City เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มอบหมายให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการเข้าร่วมประชุม การจัดนิทรรศการ พร้อมทั้งองค์ประกอบและกำหนดการเดินทางในการเข้าร่วมของคณะผู้แทนไทยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

ที่มา : https://www.mnre.go.th/th/news/detail/167630