![]() |
สำนักผู้ตรวจราชการ ชื่อย่อ “สผต.” แบ่งงานและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้ 1) ให้ปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ส่วนสนับสนุนการตรวจราชการ สำนักงานเลขานุการกรม และเปลี่ยนแปลงการจัดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของส่วนสนับสนุนการตรวจราชการ สำนักงานเลขานุการกรม ในส่วนกลาง ไปจัดตั้งให้เป็นสำนักผู้ตรวจราชการ ขึ้นตรงต่ออธิบดีหรือรองอธิบดีที่อธิบดีมอบหมาย โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้ (1) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการจัดทำประเด็นสนับสนุนแผนตรวจราชการประจำปี และการประเมินผลการดำเนินงานเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ตรวจราชการประจำทุกเดือนเพื่อร่วมกันพิจารณาประเด็นการตรวจและผลความคืบหน้าของการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือแก้ไขปัญหาในแต่ละเดือน (2) จัดทำแผนการตรวจราชการและดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกรมในการตรวจราชการเพื่อติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมทรัพยากรน้ำ ร่วมถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยง การติดตามผลการดำเนินการและจัดทำรายงานผลการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการ (3) พัฒนาระบบการตรวจราชการ การรายงาน และการติดตามผลเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับระบบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางเว็บไซต์เพื่อติดตามเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ (4) ประสาน เร่งรัด ติดตาม ดำเนินการสอบสวน ไต่สวน จัดทำสำเนาการสอบสวน เรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ข้อเท็จจริงเมื่อพบว่าอาจเข้าข่ายกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการตรวจสอบรายงานการสอบสวน สืบสวนเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจ (5) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย 2) ให้อัตรากำลังของสำนักผู้ตรวจราชการปฏิบัติหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม กรมทรัพยากรน้ำ ตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี อีกหน้าที่หนึ่ง โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (1) ดำเนินการเผยแพร่ ปลูกฝัง ส่งเสริม ยกย่องข้าราชการที่เป็นแบบอย่างที่ดี และติดตามสอดส่องการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้อย่างสม่ำเสมอ (2) สืบสวนข้อเท็จจริงการฝ่าฝืนจริยธรรมเพื่อรายงานผลให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณา ทั้งนี้ โดยอาจมีผู้ร้องขอหรืออาจดำเนินการตามที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมาย หรือตามที่เห็นสมควรก็ได้ (3) ให้ความช่วยเหลือและดูแลข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้อย่างตรงไปตรงมา มิให้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม ให้นำความในข้อ 16 (2) แห่งประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนมาใช้กับข้าราชการในกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมด้วย โดยอนุโลม โดยให้ ก.พ. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ (4) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการ (5) ดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในประมวลจริยธรรมนี้ หรือตามที่หัวหน้าส่วนราชการคณะกรรมการจริยธรรม หรือตามที่ ก.พ. มอบหมาย ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อความเป็นอิสระของผู้ดำรงตำแหน่งในกลุ่มงานดังกล่าว |